จะจัดกิจกรรมดนตรีบำบัดอย่างไรดีนะ
นางสาวเบญจมาภรณ์ ช้อยเครือ
การจัดกิจกรรมดนตรีบำบัดนั้นไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ผู้ฝึกหรือผู้สอน สามารถคิดค้นรูปแบบ วิธีการตามความสามารถและสภาพการณ์ของเด็กแต่ละคน หรือเมื่อคิดกิจกรรมขึ้นแล้ว ก็ลองให้โอกาสเด็กได้ฝึกกิจกรรมนั้นๆ แล้วหากไม่ประสบความสำเร็จ เช่น เด็กส่วนใหญ่ทำไม่ได้ เกิดความวุ่นวาย ก็ควรคิดและปรับเปลี่ยนเป็นกิจกรรมที่ไม่ยากและให้เด็กรู้สึกถึงความประสบความสำเร็จในการร่วมกิจกรรมด้วย เพื่อเด็กจะอยากเรียนรู้ และร่วมทำกิจกิจกรรมในครั้งต่อๆไป ซึ่งจากประสบการณ์การจัดกิจกรรมที่หลากหลายทำให้ทราบว่า ทุกครั้งที่มีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมใหม่ เด็กจะเงอะงะ งุ่มง่าม ไม่คล่อง กังวล ทำไม่ได้ แต่เมื่อให้โอกาสทำซ้ำๆ บ่อยๆ เด็กจะเริ่มเรียนรู้และสามารถร่วมทำกิจกรรมได้ แต่ถ้าให้ทำซ้ำแล้ว เด็กยังทำไม่ได้ ก็ควรมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมตามความเหมาะสมและสถานการณ์ ซึ่งผู้ฝึกหรือผู้สอนจะต้องรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นให้ได้ทันท่วงที และคิดหากิจกรรมอื่นมาทดแทนกิจกรรมที่ยากหรือเกิดความวุ่นวายเกินไป จากการทำกิจกรรมในรูปแบบที่ซ้ำเดิม หรือทดลองในรูปแบบต่างๆ ทำให้ทราบแนวทางในการพัฒนารูปแบบและวิธีการการจัดกิจกรรมดนตรีบำบัดที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาทางอารมณ์และสังคมของเด็กออทิสติกให้ดีขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่สนใจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อไปได้ และจากการจัดกิจกรรมดนตรีบำบัด นอกจากช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมที่ดีของเด็กออทิสติกแล้ว ยังช่วยให้เด็กได้แสดงศักยภาพความสามารถทางด้านดนตรีอีกด้วย
ตัวอย่างรูปแบบการจัดกิจกรรมดนตรีบำบัด
- เริ่มกิจกรรมด้วยการทักทายสวัสดี
- การเคลื่อนไหวหรือเต้นประกอบเพลงง่ายๆ
- การใช้เครื่องดนตรีทำกิจกรรม เช่น การตีกลอง ฯลฯ
- การใช้อุปกรณ์ประกอบการเคลื่อนไหว เช่น การใช้ผ้าขาวม้า ฯลฯ
- กิจกรรมผ่อนคลาย
- การขอบคุณเมื่อจบกิจกรรม
- หลังทำกิจกรรมเสร็จ บันทึกพฤติกรรมเด็ก และประเมินการจัดกิจกรรมทันที
เกร็ดความรู้เล็กๆในการจัดกิจกรรมดนตรีบำบัด
- การจัดกิจกรรมซ้ำเดิม หรือคล้ายเดิม จะทำให้เด็กออทิสติกเรียนรู้หรือเชื่อมโยงได้ง่ายขึ้น
- ควรลดการช่วยเหลือ และเปิดโอกาสให้เด็กพยายามทำด้วยตนเองมากขึ้น
- การดำเนินกิจกรรมต้องชัดเจน เป็นระบบ เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน หรือวุ่นวาย
- ถ้าฝึกอย่างต่อเนื่องทุกวันได้ยิ่งดี หรือฝึกอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
- แรงเสริม กำลังใจ การให้โอกาสแสดงออก เป็นสิ่งสำคัญ
- ควรจดบันทึกพฤติกรรมต่างๆของเด็กทุกครั้งที่ทำ
- กิจกรรมควรทำการบันทึกภาพหรือถ่ายวิดีโอไว้ทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรม เพื่อจะได้เห็นพัฒนาการที่ชัดเจนและสามารถย้อนดูพฤติกรรมของเด็กขณะทำกิจกรรมต่างๆได้ อ้างอิง (Reference)
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2550). การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2006). ดนตรีบำบัด. Retrieves Sep 20, 2007, from
http://www.happyhomeclinic.com/a06-musictherapy.htm
ณิศิธ ไวอาษา. (2551). ปลอดโปร่งโล่งสบาย…ให้ดนตรีบำบัด. หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ 29-05-51.
ลิชฌน์เศก ย่านเดิม. ดนตรีบำบัด สำหรับลูกน้อย. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (update 2 ธันวาคม 2004)
[ ที่มา… นิตยสารบันทึกคุณแม่ ปีที่ 10 กรกฎาคม 2547 ]
ณรุทธ์ สุทธจิตต์. (2538). กิจกรรมดนตรีสำหรับครู. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย.
เบญจมาภรณ์ ช้อยเครือ. (2551). การใช้กิจกรรมดนตรีบำบัดเพื่อพัฒนาอารมณ์และสังคมของเด็กออทิสติก.
ขอนแก่น : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการจัดการศึกษาพิเศษแบบเรียนรวมสำหรับเด็กออทิสติก โรงเรียนสาธิต
มหาวิทยาลัยขอนแก่น.